Event
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน), ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BITOEC), และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดเครือข่ายทรัพยากรชีวภาพเพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องจำนวน 53 ท่านจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในเครือข่ายฯ 24 หน่วยงานมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือกันในการรักษาทรัพยากรให้มีคุณภาพและสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ
นพ. ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้อธิบายความสำคัญของเครือข่ายฯ ว่าเป็นสร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีชีววัสดุ ภายใต้แนวคิด “National Resources” ทำให้ทุกคนหรือทุกหน่วยงานมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากชีววัสดุที่เก็บไว้ที่ถือว่าเป็นสมบัติของชาติ
ดร. ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, นางสาวนันทวรรณ เมฆา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, และ ศ. พญ. ผิวพรรณ มาลีวงษ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรที่มานำเสนอประสบการณ์การจัดการคลังชีววัสดุที่อยู่ในหน่วยงานวิจัยและห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย วิทยากรได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นในด้านต่างๆ ได้แก่ คลังและสถานที่จัดเก็บชีววัสดุ, รูปแบบการให้บริการชีววัสดุ, กฏหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง, โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการจัดการคลังชีววัสดุ (iCollect จาก BIOTEC และ KKU Biobank จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ที่ประชุมยังได้รับความรู้จากการบรรยายเรื่อง พ.ร.บ. เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 (โดย ดร.ภัทรวีร์ สร้อยสังวาล ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์), Biosafety and Biosecurity (โดย นายวัฒนพงศ์ วุทธา ที่ปรึกษาสำนักงานความปลอดภัยและสุขภาพบุคลากร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์), และ มาตรฐาน ISO/TC 276 สำหรับ Bio Bank & Bioresources (โดย ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ)
ในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมประชุมได้แบ่งกลุ่มเพื่อประชุมระดมสมองตามจุดประสงค์ ได้แก่ กลุ่ม 1 ผู้ต้องการใช้บริการจัดเก็บชีววัสดุ, กลุ่ม 2 ผู้ต้องการเก็บชีววัสดุเอง แต่ขอใช้ระบบจัดการข้อมูล, และ กลุ่ม 3 ผู้ต้องการพัฒนามาตรฐานเพื่อรักษาคุณภาพของชีววัสดุ ผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละกลุ่มได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระบุปัญหาและคิดหาคำตอบร่วมกันอย่างใกล้ชิด ผู้เข้าร่วมประชุมหลายท่านได้แสดงความสนใจที่จะเรียนรู้ระบบการจัดเก็บข้อมูลชีววัสดุและต้องการให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติช่วยจัดอบรมการใช้งานของระบบซอฟต์แวร์ iCollect นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านเห็นว่าการเข้าร่วมเครือข่ายฯ และมาตรฐาน ISO/TC 276 มีความสำคัญ สมควรจะต้องจัดอบรมให้ข้อมูล ความรู้ความเข้าใจ ความก้าวหน้าของและประชาสัมพันธ์ให้กับสมาชิกในเครือข่ายฯ